Travel

หมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน

 หมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน อยู่ห่างจากตัวเมือง 15 กิโลเมตร ตามทางหลวงสาย 224 (นครราชสีมา-โชคชัย) ในสมัยโบราณตำบลนี้เป็นที่พักกองเกวียนที่ค้าขายระหว่างโคราช-เขมร มีแม่น้ำมูลไหลผ่าน ชาวบ้านใช้ดินริมฝั่งแม่น้ำมาปั้นภาชนะใช้สอย และได้ทำสืบต่อกันมานับเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน ปัจจุบันด่านเกวียนมีชื่อเสียงมากในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา ได้สวยงาม มีรูปแบบที่แปลกและหลากหลาย แต่ยังคงลักษณะดั้งเดิมของกรรมวิธีในการปั้นและใช้ดินดำสัมฤทธิ์ที่มี เอกลักษณ์ของสีแบบดินเผาด่านเกวียนโดยเฉพาะ 

สังคมไทย เป็นสังคมเกษตรเพื่อยังชีพมาแต่ครั้งโบราณกาล นอกจากการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ไว้ใช้เป็นอาหารและไว้ใช้แรงงานแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตสิ่งอื่นที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตไว้ใช้ในครอบครัวด้วย ดังนั้น เวลาที่ว่างจากงานด้านเกษตรกร จึงเป็นเวลาที่ใช้ทำงานด้านหัตถกรรมแล้ว ยังนำส่วนที่มากกว่าความต้องการใช้ไปแลกเปลี่ยนสิ่งอื่นที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งครอบครัวไม่สามารถจะผลิตได้เอง เครื่องปั้นดินเผ่าด่านเกวียนก็เป็น ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าจะมีหลักฐานหลายอย่างปรากฏให้เห็นเด่นชัดว่า มีการทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่หลายแห่งในภาคอีสานมานานแล้ว เช่นที่บ้านเชียง แต่ปัจจุบันนี้ เมื่อกล่าวถึงเครื่องปั้นดินเผาของภาคอีสาน คนไทยทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รู้จักเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนมากกว่าเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งอื่น เพราะปัจจุบันนี้ เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนได้วิวัฒนาการจากหัตถกรรมในครัวเรือน เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกนอกท้องถิ่น ดังจะเห็นวัตถุประสงค์นี้ได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่การผลิตไปจนถึง รูปแบบ กระบวนการผลิต และระบบการซื้อขายที่แพร่กระจายไปยังตลาดต่างประเทศ